บทที่ 3 ตอนที่ 3 – ไลฟ์เฮาส์และ Extasy Records (2)

Part 3 – Live-house Performances And The Foundation of Extasy (2)

มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ X แปลกกว่าวงอื่น คือปาร์ตี้หลังคอนเสิร์ต สมาชิกในวงและแฟน ๆ กว่า 100 คนจะไปรวมตัวกันที่ผับเพื่อเลี้ยงฉลองกันต่อ

ในแต่ละครั้งที่โยชิกิเมา เขาแทบจะทำให้ทั้งร้านพังได้ในคืนเดียว ความรุนแรงที่เกิดนี้เหมือนเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้เขาได้ผ่อนคลาย หลายครั้ง หลังจากผ่านความดุเดือดบนเวที ก็ไปต่อกันที่ผับหรือร้านอาหาร มักจะมีพนักงานบริษัทมาสังสรรค์กันหลังเลิกงาน เมื่อพวกเขาเห็นโยชิกิผมบลอนด์กับชุดแปลก ๆ  ก็จะหัวเราะเยาะ ในตอนแรกโยชิกิก็ยังพยายามใจเย็น แต่สุดท้ายมักจะจบด้วยการมีเรื่องเพราะความโกรธ

เขาไม่ลังเลที่จะทำจานแตก ทำผนังล้ม คว่ำโต๊ะ หรือทำลายเสื่อทาทามิ เมื่อฝ่ายตรงข้ามเห็นโยชิกิโกรธขึ้นมาก็มักจะหนีในทันที แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาสงบลงได้ง่าย ๆ เลย

เช้าตรู่ในขบวนรถไฟสายยามะโนเตะเที่ยวแรก โยชิกิในสภาพเมา นอนเหยียดยาว กอดขวดสาเกอยู่บนที่นั่ง ในชั่วโมงเร่งด่วนที่คนเป็นพันเข้าออกรถไฟขบวนนั้น ไม่มีใครกล้าปลุกหรือรบกวนเด็กหนุ่มผมบลอนด์บนที่นั่งนั้นเลย

ตื่นขึ้นมาในตอนบ่าย โยชิกิก็ต้องพบกับบิลค่าใช้จ่ายความเสียหายจากร้านอาหาร รายได้จากคอนเสิร์ตในไลฟ์เฮาส์เกือบทั้งหมดต้องจ่ายไปกับบิลพวกนี้

โยชิกิได้รับฉายาว่า “ระเบิดที่ไม่ต้องจุด” ไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมเขาต้องการทะเลาะวิวาทขนาดนั้น แม้แต่ตัวเองก็อธิบายไม่ได้ แต่การได้อยู่กับเรื่องบ้าคลั่งพวกนี้ คล้ายกับได้ยืนยันการมีอยู่ของตัวเอง และเขาก็ไม่สามารถควบคุมมันได้

Y – พวกเราเล่นคอนเสิร์ตแบบที่ไม่มีวงไหนเล่นได้ และเราก็เหนือกว่าพวกนั้นด้วยเพลงและการไลฟ์บนเวที

คอนเสิร์ตที่เปี่ยมไปด้วยพลัง ทำให้โยชิกิมีความมั่นใจในความสามารถของวงมาก โดยไม่ได้หวั่นเกรงต่ออุปสรรคใด ๆ

ไม่กี่เดือนต่อมาหลังจากเริ่มเล่นที่ไลฟ์เฮาส์ ราวกับพายุลูกใหญ่ที่เริ่มพัดเข้าสู่วงการเพลงร็อค พวกเขาได้รับข้อเสนอจากค่ายเพลงอินดี้ชื่อ DADA ให้อัดเสียงออกขายแผ่น โยชิกิตกลงและเริ่มอัดเสียงในเพลงแรกที่เขาแต่ง “I’LL KILL YOU” แผ่นเสียง 1,000 แผ่นได้วางขายในเดือนมิถุนายน ปี 2528 และขายหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว

ดูเหมือนว่าวง X จะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่กำลังไปได้สวย แต่ในความเป็นจริง ยังมีเรื่องที่น่าห่วงอยู่ คือความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในวงบางคนกลับค่อย ๆ เปลี่ยนไป

โยชิกิมีความมุมานะที่จะต้องพาวงเข้าสู่กระแสหลักให้ได้ และโทชิมิทสึเองก็สนับสนุนอย่างไม่มีเงื่อนไข ในขณะที่โทคุโอะพอใจที่จะเล่นแค่ในไลฟ์เฮาส์เท่านั้น และการใช้เวลาทั้งหมดไปกับการซ้อมแบบโยชิกิ เป็นสิ่งที่โทคุโอะไม่ต้องการ จึงกลายเป็นความขัดแย้งจนในที่สุดโทคุโอะต้องออกจากวงไป

หลังจากนั้น X ก็ต้องหามือเบสชั่วคราวมาเล่นแทนในคอนเสิร์ต

“แต่ใครล่ะที่จะมาเป็นมือเบสของวงจริง ๆ”

แล้วโยชิกิก็นึกถึง ไทจิ ซาวะดะ

ไทจิเล่นให้กับวงที่ชื่อ Dementia มาประมาณปีกว่า เขาเป็นคนหัวแข็งคนหนึ่ง ซึ่งถ้าเมาขึ้นมาก็พร้อมจะมีเรื่องกับใครก็ได้เช่นกัน โยชิกิเคยดูวงของไทจิและชอบสไตล์การเล่นของเขา จึงโทรไปหาไทจิซึ่งตอนนั้นออกมาจากวงของตัวเองแล้ว

Y – ตอนนี้เรายังขาดมือเบส นายสนใจอยากมาร่วมงานกันไหม?

ไทจิยังไม่เคยได้ดูคอนเสิร์ตของ X มาก่อน แถมยังเคยได้ยินชื่อเสียงไม่ดีของ X อีกด้วย เขาจึงยังไม่ตอบตกลงทันที โยชิกิโทรไปอีกครั้งแล้วให้ไทจิลองฟังเพลงของ X ดู ที่จริงแล้วแนวเพลงของ X ต่างกับที่ไทจิเล่นอยู่มาก ไทจิชอบเล่นเฮฟวีเมทัลแบบวง Judas Priest มากกว่า

โยชิกิเข้าใจถึงความดื้อรั้นของไทจิดี และแม้เขาจะยังไม่ตอบตกลง แต่โยชิกิก็ชวนเขาไปดื่มและพวกเขาก็กลายเป็นเพื่อนสนิทกันทันที ความเป็นคนดื้อดึงเอาแต่ใจของไทจินี้เองที่โยชิกิรู้สึกว่ามันคล้ายกับตัวเอง

Y – ไทจิเปรียบเสมือนน้องชายของฉัน

ไม่นานไทจิก็ย้ายไปอยู่อพาร์ทเมนท์เดียวกับโยชิกิ หลังจากนั้นเขาก็ให้ข้อเสนอ:

TJ – ฉันจะเล่นกับวงถ้านายเปลี่ยนมือกีตาร์ ฉันจะไม่เล่นกับอิสึมิซาวา ถ้านายให้มือกีตาร์ฉันเข้าวงด้วย ฉันถึงจะตกลง

ถึงจะเป็นข้อเสนอที่ทำให้ลำบากใจมาก แต่โยชิกิก็ต้องตกลง เพราะวงต้องการมือเบสมากที่สุด ไทจิพามือกีตาร์ที่ชื่อ โยชิฟุมิ โยชิดะ หรือ แฮร์รี่ เข้าวงมาเล่นแทนอิสึมิซาวาทันที

ที่จริงแล้ว โยชิกิอยากให้มีมือกีตาร์ 2 คนในวงมาตลอด และเขาเลือกอิชิสึกะ(พาตะ) เป็นมือกีตาร์คนที่สอง ซึ่งตอนนั้นกำลังทำพาร์ทไทม์อยู่ที่ร้านเช่าวีดิโอ อิชิสึกะเคยอยู่กับวง Black Rose หลังจากยุบวงเขาก็ตั้งวงใหม่ชื่อ Judy โดยก่อนหน้านั้น เขาผู้เป็นหัวหน้าวง Judy เคยไปขอให้โยชิกิมาช่วยเล่นกลองให้บ้าง และเคยชวนโยชิกิให้เข้ามาอยู่ในวงด้วย

PATA – นายอยากมาเล่นกับวงเราถาวรเลยมั้ย?

อิชิสึกะยังจำช่วงเวลาตอนชั้นม.ปลายวันที่โยชิกิได้รางวัลมือกลองยอดเยี่ยมในการประกวด East West ที่ชิบะได้

Y – ไม่ได้หรอก ฉันมีวง X แล้ว

แต่อิชิสึกะรู้มาว่าตอนนั้น มีแค่โยชิกิกับโทชิเท่านั้นที่เป็นสมาชิกหลักของวง

PATA – ไม่เห็นเป็นไรนี่ นายก็คอยเป็นมือกลองเสริมให้กับ X

Y – ไม่ล่ะ ฉันจะไม่ทิ้ง X

ได้ยินดังนั้นอิชิสึกะก็ต้องยอมแพ้

อิชิสึกะอายุเท่าโยชิกิ แต่เขาหยุดเรียนชั้นม.ปลายเพื่อไปเล่นกีตาร์จนกลายเป็นมืออาชีพ จนบางครั้งโยชิกิก็ยังนึกอิจฉา และอยากชวนคน ๆ นี้มาเข้าวงด้วย

Y – ฉันอยากให้ X มีมือกีตาร์สองคนน่ะ พาตะ มาช่วยฉันที

อิชิสึกะมีชื่อเล่นที่เพื่อน ๆ เรียกกันว่า “พาตะ” เพราะความที่เขาชอบการ์ตูนที่ชื่อ Patalliro! มากนั่นเอง

และพาตะก็ตอบตกลงทันทีที่โยชิกิขอ:

PATA – โอเค ฉันกำลังว่างพอดี

ที่พาตะตอบตกลงทันทีเพราะว่าเขาก็เหนื่อยที่จะทำงานในร้านเช่าวิดีโอเต็มที และอยากจะกลับไปเล่นกีตาร์มาก ๆ แล้ว

·
·

ช่วงที่เล่นในไลฟ์เฮาส์นั้น X ต้องใช้มือกีตาร์ชั่วคราวบ่อย ๆ ขณะเดียวกัน โยชิกิก็ไปเล่นให้วงอื่นในฐานะมือกลองชั่วคราวเช่นกัน วันหนึ่งขณะที่กำลังจะขึ้นเวทีกับวง DOOM ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตแรกของวง โยชิกิตั้งใจจะทำผมให้ตั้งขึ้นทั้งศีรษะ แต่เวลาผ่านไปเป็นชั่วโมงแล้วก็ยังไม่เสร็จ สเปรย์หมดไปแล้ว 2 กระป๋องแต่เขาก็ทำไปได้แค่ครึ่งเดียวเท่านั้น และจวนจะถึงเวลาขึ้นแล้ว

Y – ทำยังไงดีล่ะ? ไม่มีเวลาแต่งหน้าแล้ว ผมก็ยังไม่เสร็จเลย!

สมาชิกในวงเห็นดังนั้นจึงบอกกับเขาว่า:
“ในเมื่อนายทำผมไปครึ่งหนึ่งแล้ว ก็แต่งหน้าแค่ครึ่งหน้าด้วยสิ”

Y – จริงด้วย ฉันจะลองดู !

ผมของโยชิกิตั้งตรงขึ้นแค่ข้างเดียว ส่วนอีกข้างถูกปล่อยยาวลงมาประมาณหัวไหล่ และเขาก็แต่งหน้าครึ่งเดียว ผู้ชมเห็นต่างก็ส่งเสียงและจับจ้องไปที่โยชิกิเพราะการแต่งตัวที่แปลกตานั้นตลอดการแสดง

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงช่วงเดบิวต์* (การเปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการของศิลปิน) การแต่งหน้าทำผมแบบนี้จึงกลายเป็นลักษณะประจำตัวของโยชิกิไปโดยปริยาย และเขาก็ดูจะชอบเสียด้วย

ตรงกันข้ามกับโยชิกิที่มักจะแต่งตัวด้วยชุดของผู้หญิงขึ้นเวที ไทจิจะแต่งตัวด้วยชุดหนัง ใช้เศษแก้วแตกและปักหมุดเหล็กต่าง ๆ ให้ดูเก๋าเข้าไว้ ซึ่งเขาทำเองด้วยมือทั้งหมด

ส่วนโทชิก็ทำผมให้ตั้งขึ้นและใส่แจ็กเก็ตหนังเพิ่มความดุดัน ด้วยฝีมือของไทจิอีกเช่นกัน เสื้อผ้าพวกนี้ดูมีราคาแต่เพราะพวกเขาทำเองทั้งหมด ราคาจะตกอยู่แค่ 1-2 หมื่นเยนเท่านั้น

·
·

ฤดูร้อนปีพ.ศ. 2528 การแสดงของ X ยิ่งทวีความดุเดือด จากเพลง Kurenai ซึ่งโยชิกิเป็นคนแต่งและเรียบเรียง เพลงนี้แสดงให้เห็นพัฒนาการทางด้านดนตรีของวง ผู้ชมต่างโยกศีรษะขึ้นลงตามจังหวะอันรวดเร็วของกลอง จังหวะที่เร็วมากในเพลงนี้ให้ความรู้สึกของเฮฟวีเมทัลและฮาร์ดร็อคพังก์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีท่วงทำนองที่นุ่มนวลและเนื้อเพลงที่ค่อนข้างดราม่า เมื่อประกอบกันเป็นเพลง Kurenai ก็ชนะใจคนฟังได้ไม่ยาก แถมยังแสดงให้เห็นถึงความต่างจากวงเฮฟวีเมทัลอื่น ๆ ในช่วงนั้นอย่างชัดเจน และมันเป็นสิ่งที่โยชิกิปรารถนามาตลอด

อย่างไรก็ตาม แม้โชว์ของพวกเขาจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปัญหาเรื่องสมาชิกในวงยังคงไม่จบสิ้น

ไทจิ ผู้ที่เข้ามาในวงด้วยเงื่อนไขที่ต้องให้มือกีตาร์คนเก่าออกไป ท้ายที่สุดก็มีความเห็นทางดนตรีที่ไม่ลงรอยกับโยชิกิ และออกจากวงไปในที่สุด เฮฟวีเมทัลของไทจิต้องเน้นที่เสียงร้องดัง ๆ และการริฟฟ์กีตาร์ แต่โยชิกิไม่เห็นถึงความจำเป็นนั้นและยืนยันจะใส่ลูกเล่นของพังก์ลงไปด้วย

หลังจากที่ไทจิและมือกีตาร์ที่มากับเขา แฮร์รี่ ออกจากวงไป วงจึงขึ้นโชว์ไม่ได้อีก อิชิสึกะต้องกลับไปทำงานที่ร้านเช่าวิดีโอต่อ

โยชิกิกลับไปหาอิสึมิซาวาด้วยความรู้สึกผิด โยชิกิขอโทษและขอร้องให้เขากลับมา

Y – ฉันทำผิดครั้งใหญ่ ให้อภัยฉันด้วยเถอะ นายกลับมาอยู่กับ X อีกได้ไหม?

อิสึมิซาวาตอบด้วยความใจเย็น:
“เอาเถอะ บางทีการตัดสินใจของนายอาจจะผิด แต่ฉันก็มีศักดิ์ศรี ฉันจะเป็นมืออาชีพ และจะไม่กลับไปอยู่วงที่เคยออกมาแล้วแน่นอน”

โยชิกิทำได้แค่มองที่ตาเขาและพยักหน้ารับ

การออดิชันและสัมภาษณ์นักดนตรีจากการแนะนำต่อ ๆ กันของเพื่อน ๆ ก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง มีคนสนใจสมัครมากมาย แต่เมื่อลองเข้ามาอยู่ในวงจริง ๆ แค่ไม่กี่วัน ก็ลาออกไปด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป

นักดนตรีบางคนรับไม่ได้ที่วงเล่นทั้งแนวพังก์ร็อคกับเฮฟวีเมทัลผสมกัน หนำซ้ำยังมีองค์ประกอบของดนตรีคลาสสิคด้วย แต่เหตุผลส่วนใหญ่ของเด็กใหม่คือ พวกเขาทนรับแรงกดดันระหว่างการซ้อมอันหนักหน่วงของโยชิกิไม่ไหวนั่นเอง

มันยากที่จะจินตนาการว่าพวกเขาใช้เวลาฝึกซ้อมไปมากมายแค่ไหน สำหรับโยชิกิดูเหมือนจะยังไม่มากพอ และเมื่อเด็กใหม่ที่เพิ่งเข้าวงมาเริ่มบ่น

“ฉันไม่อยากเสียเวลากับการซ้อมมากมายขนาดนั้นหรอกนะ!” ไม่นานก็ต้องออกจากวงไป

แต่ถึงโยชิกิจะกระวนกระวายใจกับสมาชิกของวงที่ยังไม่ลงตัวแค่ไหน เขาก็ยังอดทนรอด้วยความใจเย็น ไม่ใช่แค่นักดนตรีฝีมือดีหรือมีสไตล์คนไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นคนที่จะเข้ากับวงได้โดยธรรมชาติ

ขณะที่ต้องหาสมาชิกวงใหม่ โยชิกิก็มีแผนใหม่

ช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วงปีพ.ศ. 2528 เขาบอกกับโทชิ:
Y- ฉันคิดว่าเราต้องเริ่มอัดเสียงแล้วล่ะ เราได้เล่นในไลฟ์เฮาส์มาเยอะแล้ว เป้าหมายต่อไปก็คือออกอัลบั้ม

อาจฟังดูเป็นประโยคที่เหมือนเป็นการตัดสินใจชั่ววูบ แต่มันแสดงถึงความปรารถนาอย่างตรงไปตรงมาของโยชิกิที่ต้องการจะเข้าสู่วงการเพลงร็อค ด้วยกลยุทธ์ที่ไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว เขารู้ว่าการออกอัลบั้มกับค่ายเพลงอิสระ(อินดี้) จะทำให้วงเป็นที่รู้จักมากขึ้นกับคนที่เคยมองข้ามพวกเขาไปอย่างแน่นอน

แทบทุกวงที่เล่นในไลฟ์เฮาส์ต้องการออกอัลบั้ม ซึ่งมีขั้นตอนมาตรฐานของมันอยู่ เช่น เมื่อวงได้เล่นในไลฟ์เฮาส์และมีผู้ชมรู้จักมากขึ้น รวมไปถึงนักวิจารณ์เพลงเริ่มพูดถึง ก็รอการติดต่อจากบรรดาโปรดิวเซอร์หรือผู้จัดการจากค่ายเพลงได้เลย

อย่างไรก็ตาม โยชิกิไม่ได้สนใจขั้นตอนพวกนั้นเท่าไรนัก แต่เขาก็ยังไม่มีความรู้ว่าหากจะออกอัลบั้มด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งค่ายเพลงต้องทำอย่างไร เหมือนตอนที่ไม่รู้ว่าทำอย่างไรจะได้เล่นในไลฟ์เฮาส์ เขาจึงเริ่มศึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนพวกนี้ด้วยตัวเองตั้งแต่ขั้นแรก

Y – ถ้าจะผลิตอัลบั้มแผ่นเสียง ต้องใช้อะไรบ้างครับ?

โยชิกิถามตรง ๆ กับบริษัทที่รับผลิตแผ่นเสียง
พนักงานให้ราคาสำหรับการผลิตจำนวน 1,000 แผ่น หากนำต้นฉบับเพลงมาพร้อมเงินประมาณ 1 แสนเยน ก็สามารถผลิตได้ทันที

การหาข้อมูลยังคงดำเนินต่อไป

“แล้วปกแผ่นเสียงล่ะ ทำยังไงดี?”

เขาจึงไปที่โรงพิมพ์แห่งหนึ่ง:

Y – จะผลิตปกแผ่นเสียงต้องใช้เงินเท่าไหร่ครับ?

เมื่อได้ราคา โยชิกิก็เริ่มคิดถึงการออกแบบปกต่อ

“น่าจะให้พวกสตูดิโอถ่ายภาพออกแบบได้นะ”

เขาจึงไปสอบถามราคาและขั้นตอนที่สตูดิโอถ่ายภาพ ตอนนี้เขามีภาพแผนการทำอัลบั้มในขั้นต้นแล้ว อันดับแรกคือเอาต้นฉบับเพลงให้โรงงานผลิตแผ่น ถ่ายรูปปกและออกแบบโลโก้ที่สตูดิโอ แล้วจึงเอาไปให้โรงพิมพ์ เท่านี้ทุกอย่างก็น่าจะพร้อมแล้ว

ขั้นตอนต่อไปที่ต้องคิดคือการจัดจำหน่าย เพราะทุกอย่างไม่ได้จบแค่กระบวนการผลิตแผ่น ยิ่งมีคนซื้อมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีคนได้ฟังเพลงของ X มากขึ้นเท่านั้น

“จะเอาไปวางขายให้คนทั่วไปสามารถซื้อได้ยังไงนะ?”

โยชิกิหาข้อมูลจากนิตยสารดนตรี และพบรายชื่อร้านขายแผ่นทั้งหมดทั่วญี่ปุ่น ที่จะสามารถนำแผ่นเพลงอินดี้ไปวางขายได้

“ถ้าเรามีทุนมากพอและทำอัลบั้มเป็นแผ่นเสียงออกมาได้ ก็น่าจะเอาไปวางขายตามร้านพวกนี้ได้”

หลังจากนั้น เขาก็ตัดสินใจที่จะรวบรวมเงินที่ได้จากแม่ทุกเดือนเพื่อใช้ในการทำอัลบั้ม แต่ดูยังไงก็คงไม่พอแน่ ๆ เขาจึงต้องขอแม่เพิ่ม

Y – แม่ครับ ผมจะทำอัลบั้ม ขอเงินเพิ่มได้ไหม

ได้ฟังลูกชายพูดเรื่องออกอัลบั้ม แม่ก็ตกลงเพิ่มเงินให้ แต่อย่างไรก็ตาม ลูกชายยังคงต้องการเงินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละเดือนที่ผ่านไป จนแม่เริ่มเป็นกังวลและเริ่มลดเงินที่ส่งให้ ซึ่งแน่นอนว่าก็ยังเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายของเด็กผู้ชายวัย 19 แต่ไม่มีทางพอหากจะต้องนำเงินไปใช้จ่ายในการทำอัลบั้มด้วย

โยชิกิจึงลดค่าใช้จ่ายด้วยการย้ายที่อยู่จากอพาร์เมนท์ในเอโกดะไปอยู่ที่บ้านหลังเล็ก ๆ ย่านนาริตะ จังหวัดชิบะ ซึ่งไม่ต้องเสียค่าเช่าเพราะเป็นมรดกจากพ่อของเขา โยชิกิทำใบขับขี่และซื้อรถมือสองถูก ๆ ใช้ แต่ละวันเขาต้องขับรถไป-กลับโตเกียวเพื่อไปซ้อมหรือเล่นคอนเสิร์ตโดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงในแต่ละเที่ยว ซึ่งเป็นเวลาที่นานเกินไป

วันหนึ่ง เขาได้แวะห้องเพื่อนสมัยเรียนในย่านเมจิโระ โตเกียว

“กว่าจะถึงบ้านอีกนานเลย ทำไมฉันไม่นอนที่นี่ซะเลยล่ะ”

เพื่อประหยัดเวลาการเดินทาง โยชิกิจึงมาอาศัยอยู่ที่อพาร์ทเมนท์ของเพื่อนที่นี่ประมาณ 3 เดือน ในห้องที่กว้างประมาณ 6 เสื่อทาทามิ (ประมาณ 10 ตร.ม.) ซึ่งแตกต่างกับอพาร์ทเมนท์ที่เคยอยู่ในเอโกดะอย่างสิ้นเชิง แต่ด้วยความที่โยชิกิยุ่งกับการเตรียมอัดเสียง ปัญหาของแต่ละวันว่าจะนอนที่ไหน ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

เป้าหมายการผลิตอัลบั้มเป็นแรงกระตุ้นที่ปลุกวิญญานนักสู้ของโยชิกิขึ้นมา ไม่ว่าจะมีกำแพงสูงแค่ไหนมาขวางทาง เขาพร้อมที่จะทำลายมันด้วยแรงพลังทั้งหมดที่มี

วันหนึ่ง ณ ห้องที่เขาอยู่ มีเพื่อนร่วมชั้นมาเที่ยวหา โยชิกิยื่นบอร์ดสีดำกับปากกาสีขาวให้เพื่อนแล้วบอก:

Y – เขียนตามที่ฉันบอกนะ

แล้วโยชิกิก็พูดคำที่เขาคิดขึ้นได้ในหัว เพื่อนเขียนแล้วถาม:

E-X-T-A-S-Y คืออะไรเหรอ?

Y – เอ็กซ์ตาซี คือชื่อค่ายเพลงของฉัน

โยชิกิลุกขึ้นแล้วเอาป้ายไปติดที่หน้าประตูห้อง

Y – จากนี้ไปที่นี่คือบริษัทของฉัน ค่ายเพลงสำหรับวง X

และนี่คือการกำเนิดค่ายเพลงอินดี้ในห้องเล็ก ๆ นั่นเอง

จากวันนั้น โยชิกิเริ่มกิจกรรมต่าง ๆ เหมือนกับนักธุรกิจหน้าใหม่ โดยต้องเริ่มจากการขายอัลบั้มที่ทำออกมาให้ได้ บางทีเขาอาจจะมีเลือดของนักธุรกิจอยู่ในตัวก็ได้

·

เพื่อการควบคุมต้นทุนและรายได้จากการขายและเรื่องเสียภาษี จึงจำเป็นที่จะต้องจดทะเบียนเป็นบริษัท โยชิกิซื้อหนังสือเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้มาอ่านทั้งวันทั้งคืน รวมถึงปรึกษากับแม่ของเขาที่มีประสบการณ์จัดการร้านกิโมโน แม่อธิบายกฎและขั้นตอนต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการจดทะเบียนบริษัท จากนั้น บริษัทเอ็กซ์ตาซี ก็กำเนิดขึ้นได้ในที่สุด โดยมีโยชิกิ ผู้มีอายุยังไม่ครบ 20 ปีดี เป็นกรรมการบริษัท

บริษัทเล็ก ๆ นี้ยังไม่มีลูกจ้างเลยนอกจากโยชิกิเอง ชีวิตเขาจึงไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปมากนัก แต่เขาเชื่อว่าบริษัทนี้จะสามารถสื่อสารดนตรีของวงออกไป ไม่เฉพาะกับคนดูในไลฟ์เฮาส์ แต่กับแฟนเพลงร็อคทั่วไปได้ด้วย

ขณะที่กำลังเตรียมอัดเสียง โยชิกิก็เจอมือกีตาร์ ทาคาอิ ฮิซาชิ (จุน) กับมือเบส อุทากะ ฮิคารุ (ฮิคารุ) ทั้งคู่ต่างก็มีฝีมือพอที่จะเข้าใจดนตรีของโยชิกิ

ยิ่งใกล้เวลาที่จะเข้าห้องอัดมากเท่าไร โยชิกิก็ยิ่งตื่นเต้น และเพิ่มเวลาซ้อมมากขึ้นอีก

นอกจากนั้น เขายังฝึกซ้อมกลองด้วยการใช้เมทรอนอม (เครื่องนับจังหวะ) เขาสามารถตีกลองหลายชั่วโมงได้โดยไม่ต้องนอนหรือกินอะไรเลย บางครั้ง เขาอยู่ในห้องซ้อมมากกว่า 10 ชั่วโมงโดยไม่ออกไปไหนเลย ห้องซ้อมเลยเหมือนกลายเป็นของเขา และแม้จะต้องเสียค่าเช่ามากแค่ไหนเขาก็ไม่สนใจ

เขาต้องการพัฒนาฝีมือการตีกลองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขากดดันตัวเองอย่างหนักเหมือนกับตอนที่เตรียมสอบเข้าวิทยาลัยดนตรี และแม้จะเห็นได้ชัดว่าเทคนิคของเขาเพอร์เฟคแล้ว ณ จุดหนึ่ง โยชิกิก็ไม่เคยหยุดอยู่แค่ตรงนั้น เขายังคงฝึกฝนต่อเนื่อง เขาตีกลองจนแขนขยับแทบไม่ได้ด้วยซ้ำ

Y – ฉันอยากจะรู้ว่า จะตีกลองออกมาให้เหมือนจังหวะที่ได้ยินอยู่ในหัวฉันได้ยังไง

โยชิกิเล่าให้โทชิฟัง แต่การฝึกฝนแบบนี้มันเกินขีดความสามารถของร่างกายเขาจะรับไหว เขาหมดเรี่ยวแรงอย่างสิ้นเชิงหลังซ้อมเสร็จ จนบางทีก็ตีกลองจนเป็นลมลงไปกองกับพื้น แต่จิตวิญญาณข้างในไม่อนุญาตให้ร่างกายเขาได้หยุดพัก

ร่างกายของโยชิกิเจ็บจากการฝึกเกินจำเป็นก็จริง แต่เขารู้สึกผ่อนคลายมากกว่ารู้สึกเหนื่อย ราวกับว่าทุกจังหวะในเพลงผสานเข้าไปในทุกส่วนของร่างกาย

ต้นปีพ.ศ.2529 การอัดเสียงเริ่มต้นขึ้น ด้วยเพลงชื่อ ‘Orgasm’ เป็นเพลงที่โยชิกิใช้เวลาเรียบเรียงซ้ำแล้วซ้ำอีก และได้คัดเลือกให้ปล่อยออกมาเป็นซิงเกิลแรก.

จบบทที่ 3 ดอนที่ 3 ซะที เย้! เว้นนานเกิ๊น 555 ขออภัยที่ให้รอนานค่า ><

One thought on “บทที่ 3 ตอนที่ 3 – ไลฟ์เฮาส์และ Extasy Records (2)

Leave a comment